วันนี้ยังคงอยู่ที่เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานเรื่องเดิม
ซึ่งเมื่อวานผมได้เขียนในเรื่องของการเลือกคนเข้าทำงานน่าจะมองกันที่
ทัศนคติมากกว่าเรื่องของความรู้ทักษะ
ซึ่งจะทำให้ปัญหาในการทำงานในองค์กรน้อยลงไปเยอะ
วันนี้ก็จะมาต่อในเรื่องของการคัดเลือกพนักงานว่า นอกจากทัศนคติแล้ว
คงต้องดูในเรื่องของความพร้อมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วย
โดยปกติเวลาที่องค์กรจะคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้น
ก็มักจะพิจารณาถึงความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ในการทำงานของผู้สมัคร
ซึ่งสิ่งที่มักจะพิจารณาก็คือ
ผู้สมัครคนนั้นสามารถทำงานในตำแหน่งงานนั้นได้หรือไม่
โดยปกติก็จะพิจารณาจากหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งงานนั้น
รวมถึงคุณสมบัติของตำแหน่ง
แล้วก็มาเปรียบเทียบกับผู้สมัครที่เราคัดเลือกเข้ามา
เมื่อเราพิจารณาแล้วว่า ผู้สมัครคนนี้มีประสบการณ์และเคยทำงานแบบนี้มาก่อน
เราก็มักจะเลือกผู้สมัครคนนี้เข้าทำงาน ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาน่าจะทำงานได้
แต่แค่ทำงานได้นั้น มันไม่พอ เพราะจริงๆ แล้ว
ทุกงานที่ทำจะต้องมีการพัฒนา ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ
เนื่องจากธุรกิจจะต้องเติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น
การทำงานก็จะต้องยากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า
งานที่ทำก็ไม่น่าจะทำเหมือนเดิมเช่นกัน
จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งก็คือ คนทำงานนั้นๆ
จะต้องมีความเต็มใจที่จะเรียนรู้ และต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ออกไปให้ลึกขึ้น
และกว้างขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ได้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าผู้สมัครคนนี้สามารถที่จะเรียนรู้ได้จริงๆ
- ทัศนคติ ตัวแรก
ก็คือ เรื่องของทัศนคติที่ต่อการการทำงาน และต่อการเปลี่ยนแปลง
คนที่พร้อมที่จะเรียนรู้มักจะเป็นคนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงาน
ยอมรับว่างานจะต้องซับซ้อนมากขึ้น ยากมากขึ้น และถ้าเขาอยากจะเติบโตจริงๆ
เขาจะต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง อีกประเด็นก็คือ
จะต้องยอมรับและเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงาน
เพราะการเรียนรู้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
- เน้นไปที่ความท้าทายของงานมากกว่าการกำหนดคุณสมบัติ เวลา
ที่ลงประกาศรับสมัครงาน
พยายามลงประกาศที่เน้นไปที่เรื่องของความท้าทายของงานที่จะทำ
และสิ่งที่จะได้เรียนรู้
มากกว่าที่จะประกาศไปที่คุณสมบัติของตำแหน่งงานเพียงอย่างเดียว
เพราะคนที่ต้องการที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จะสนใจสิ่งเหล่านี้มากกว่า
เรื่องของคุณสมบัติของตำแหน่งงาน
แต่ถ้าเราเน้นแค่คุณสมบัติของตำแหน่งงานเพียงอย่างเดียว
เราก็จะได้แค่เพียงคนที่เข้ามาทำงาน โดยที่ไม่สนใจ
หรือใส่ใจที่จะเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมากนัก
- ถามเกี่ยวกับความสำเร็จที่ผ่านมา
เวลาสัมภาษณ์ผู้สมัคร
ก็เน้นไปที่การถามเรื่องของความสำเร็จที่ผ่านมาในการทำงาน
โดยเน้นไปที่เรื่องของงานที่ท้าทาย
หรืองานที่คิดว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
มากกว่าที่จะถามว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง
รวมทั้งสอบถามไปถึงวิธีการที่ทำให้ตนเองสามารถทำงานได้สำเร็จว่าทำอะไร
อย่างไร และทำไมถึงสำเร็จได้ ด้วยคำถามแนวนี้
จะทำให้เรามองเห็นถึงความตั้งใจที่จะเรียนรู้ในงานใหม่ๆ ของผู้สมัคร
ซึ่งคนที่ไม่ค่อยอยากเรียนรู้อะไรนั้น
ก็มักจะไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นในเรื่องเหล่านี้มากนัก
และแนวทางในการสัมภาษณ์ผู้สมัครโดยเน้นไปที่เรื่องทัศนคติ
และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก
เพียงแต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพก็คือ
เรื่องของการคัดเลือกคนเข้าทำงานนั้น
ไม่ใช่แค่เพียงการหาคนเข้ามาทำงานนั้นๆ ได้ก็พอ
แต่จะต้องหาคนที่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
พร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าองค์กรของเรายังอยากเติบโตและ
พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แปลว่า
เราต้องรับพนักงานที่พร้อมจะพัฒนาไปกับเราด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่พนักงานที่ทำงานแบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ จริงมั้ยครับ
Cr Prakal's Blog
No comments:
Post a Comment