ปัจจุบันรัศมีของ Bitcoin และเหรียญ cryptocurrency อื่นๆได้ฉายแววไปแทบทั่วจะทุกๆซอกหลืบและเงาของทุกประเทศบนโลกนี้ จึงไม่แปลกที่ทั้งรัฐบาลที่หลายๆคนเชื่อว่าเป็นศัตรูอันดับ 1 ของ Bitcoin และธนาคารต่างๆนั้นก็เริ่มเกิดความกลัวในตัวของเจ้าสกุลเงินดิจิตอลดังกล่าว เนื่องมาจากคอนเซปตอนเริ่มแรกของมันที่ทางผู้สร้างมองว่าธนาคารและรัฐบาลนั้นเอาเปรียบประชาชน ไม่ว่าจะทั้งการนำเงินฝากของประชาชนไปใช้ในทางที่มิดีมิชอบ, ค่าธรรมเนียมแสนแพง และอื่นๆอีกมากมาย ทว่าความดังของมันยังส่งผลให้สื่อกระแสหลักซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ใช้งาน Bitcoin หลายๆคนมักจะนำข้อมูลจากที่สื่อดังกล่าวนำเสนอมาหารสอง เพราะด้วยสาเหตุเกี่ยวกับความถูกต้องและความแม่นยำของข้อมูลที่อาจเปรียบเทียบได้กับตัวโกงในหนังเรื่องแรมโบ้ ซึ่งในกรณีนี้ สื่ออย่างผู้จัดการที่รายงานข่าวในหัวข้อ “Bitcoin คือหายนะแห่งอนาคต” นั้นก็อาจจะตกอยู่ในเคสดังกล่าวด้วยเช่นกัน
มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาที่จะทำความเข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เนื่องมาจากความซับซ้อนของเทคโนโลยี cryptography และ Blockchain และศัพท์เทคนิคอื่นๆอีกมากมายซึ่งแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยอมรับว่าตอนเข้ามาศึกษาใหม่ๆนั้นก็สร้างความปวดหัวพอสมควร
ในเนื้อหาข่าวดังกล่าวนั้นมีการพาดพิงถึงคดีอื้อฉาวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแอดมินเว็บ dark net (หรือ deep web ที่ไม่ใช่เว็บธรรมดาทั่วไป แต่ต้องใช้บราวเซอร์ชนิดพิเศษอย่าง Tor เพื่อเปิดชม) นามว่า AlphaBay ซึ่งการเสียชีวิตของนาย Alexandre Cazes ในประเทศไทยนั้นได้ปลุกให้สื่อหลายๆสื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ Bitcoin อย่างเมามัน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้รายงานว่านาย Alexandre Cazes เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ระดับ high-end นามว่า Blue Pearl มูลค่ากว่า 2,105,500 บาท โดยมีการบอกเป็นนัยว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เขาประกอบมานั้นใช้เพื่อขุด Bitcoin โดยเฉพาะ
” …นั่นคือข้อมูลสำคัญที่ทีมข่าว MGR Online นำเสนอไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา….มีคำถามว่าทำไมจอมโจรอัจฉริยะ “อเล็กซานเดส แคซ” จึงต้องประดิษฐ์ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมา เขามีไว้เพื่อการอะไรและหลายท่านอาจลืมไปว่าในการแถลงของเจ้าหน้าที่ตอนหนึ่งได้เอ่ยถึงเงินสกุลออนไลน์ หรือเงิน “บิทคอยน์”ซึ่งผู้ตายมีอยู่ในครอบครองจำนวนมากนับล้านหน่วย….เงินออนไลน์หรือ “บิทคอยน์”เกี่ยวข้องกับขบวนการนอกกฎหมายอย่างไรข้อมูลต่อไปนี้คือคำเฉลย”
รายงานโดยผู้จัดการ
นอกจากนั้นยังมีการสัมภาษณ์กับบุคคลนิรนามที่ใช้นามแฝงว่า ป.นักธุรกิจ ที่ได้มีการอธิบายถึงการ “แย่งชิง” Bitcoin โดยใช้คอมพิวเตอร์แรงสูงที่มาจากการประกอบด้วยเงินหลักแสนอีกด้วย
“หากใครต้องการครอบครองเงินสกุลนี้จะต้องใช้คอมพิวเตอร์แรงสูงเพื่อแย่งชิงให้มากที่สุด แน่นอนว่ามองเผินๆนี่คือการหลอกขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับบรรดาพวกร้อนวิชา หลายคนทุ่มเงินซื้อโปรแกรมที่สร้างขึ้นมา”
กล่าวโดยนาย ป.นักธุรกิจ
ความจริงคือปัจจุบันนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ขุด Bitcoin ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่เครื่อง Personal Computer (PC) สเป็คสูงๆทั่วๆไป (ต่อให้อัพเกรดระบบมาสูงสุดแล้วก็ตาม) แต่เป็นเครื่อง ASIC หรือชื่อตัวเต็มของมันคือ Application-specific integrated circuit หรือแปลตรงตัวก็คือ “ระบบแผงวงจรที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับแอพบางแอพ” โดยกำลังในการ “ขุด” หรือประมวลผลของมันนั้นจะมีการวัดด้วยหน่วยที่เรียกว่า hash power แม้ว่าเครื่องดังกล่าวจะมีราคาเป็นหลักแสนต่อเครื่อง แต่การมีเครื่องนี้แค่เครื่องเดียวนั้น ไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้ขุดจะได้รายได้เป็น Bitcoin มากกว่าคนอื่นๆ เมื่อไม่นานนี้ทาง Siam Blockchain ได้รายงานภาพถ่ายของชาวจีนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโกดังขุด Bitcoin ซึ่งมีเครื่อง ASIC ดังกล่าวอยู่ราวๆ 7,000 เครื่องทั้งของเขาเองและของลูกค้าที่มาขอเช่าซื้อพื้นที่เพื่อวางเครื่องอีกด้วย ดังนั้น หากดูจากฐานะของนาย Alexandre แล้ว เครื่อง super computer ของเขาน่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อความสนุกมากกว่า ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขุด Bitcoin แต่อย่างใด
ยังไม่จบแค่นั้น
นาย ป.นักธุรกิจ ยังได้มีการอ้างอิงถึง Satoshi Nakamoto ที่เขาฟันธงว่าเป็นชาวญี่ปุ่น และบอกว่าบางทฤษฎีนั้นมาจากออสเตรเลียอีกด้วย
“บิทคอยน์ ถือกำเนิดมาจากชาวญี่ปุ่น สุดอัจฉริยะคนหนึ่งแต่บางทฤษฎีอ้างว่าเป็นชาวออสเตรเลีย แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เหตุผลของการกำเนิดเงินสกุลนี้มีแรงบันดาลใจมาจากพี่ใหญ่ของโลกคือในยุคเศรษฐกิจอเมริกา ตกต่ำมีการพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ขึ้นมาเองตามอำเภอใจ ผู้ติดเงินสกุล “บิทคอยน์”จึงมีความเชื่อว่าต่อไปในอนาคตเมื่อมีการติดต่อค้าขายในโลกออนไลน์มากๆ “บิทคอยน์”น่าจะตอบโจทก์และเข้ามามีบทบาทบางส่วนของธุรกิจการค้าได้”
กล่าวโดยนาย ป.นักธุรกิจ
ปัจจุบัน การดีเบตเกี่ยวกับที่มาของ Satoshi Nakamoto นั้นดูเหมือนว่าจะถูกล้มเลิกและหายไปแล้ว โดยข้อสรุปนั้นก็ยังไม่เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่าเขา หรือเธอคนนั้นคือใคร เป็นผู้ชาย? เป็นผู้หญิง? หรือเป็นนามแฝงของคนกลุ่มๆหนึ่ง? และที่สำคัญมาจากประเทศอะไร? ซึ่งก็ไม่มีใครทราบดี แม้แต่นาย Gavin Andresen หรืออดีตหัวหน้านักพัฒนา Bitcoin Core (ทีมพัฒนาหลักของ Bitcoin ในปัจจุบัน) ที่รับช่วงต่อมาจาก Satoshi Nakamoto ก็ยังไม่รู้ว่าเขาหรือเธอเป็นใครกันแน่
จริงอยู่ที่ Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงปี 2007-2008 ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในประเทศสหรัฐฯในขณะนั้นพอดี ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าแนวคิดการกระจาย (decentralized) ของ Bitcoin นั้นถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อต้านธนาคารและรัฐบาล ที่มีระบบการบริหารเป็นแบบจุดศูนย์รวม (centralized) ดังนั้นอำนาจและการตัดสินใจในเงินของประชาชนจึงไปตกอยู่ที่พวกเขาหมด ซึ่งต่างจาก Bitcoin ที่มีกฎ protocol ที่ชัดเจน และไม่มีใครสามารถควบคุมและเป็นเจ้าของมันได้
นาย ป.นักธุรกิจ ยังได้กล่าวถึงเหตุผลที่ใครๆหลายๆคนก็แห่กันมาซื้อ Bitcoin
“เหตุผลของความบ้าคลั่งเงินสกุล “บิทคอยน์”น่าจะมาจากเมื่อกลุ่มผู้ซื้อขายทางออนไลน์เล็งเห็นช่องหารายได้จึงเข้ามาแจมด้วยโดยให้อภิสิทธิ์สามารถซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่สินค้าแบรนเนมต่างๆ ล้วนหาซื้อได้ด้วยเงินบิทคอยน์” กล่าวโดยนาย ป.นักธุรกิจ
อีกทั้งยังมีการอ้างอิงถึง กลุ่มผู้ขายสินค้าออนไลน์ที่เล็งเห็นประโยชน์ของการใช้งาน Bitcoin เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางการจ่ายเงินอีกด้วย และยังมีการอ้างอิงถึงบริษัทระดับโลกอย่าง Amazon, Alibaba และโบรคเกอร์ผิดกฎหมายอื่นๆอีกด้วย
“ทั้งกลุ่มอเมซอล -อาลีบาบา และบรรดาโบรกเกอร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างแห่เข้ามาร่วม ช่องทางธุรกิจนี้จึงเอื้อให้กับเงินผิดกฎหมายจำนวนมหาศาลฉวยโอกาสเข้ามาฟอกอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากชื่อบริษัทของบรรดาโบรกเกอร์ทั้งหลายก็จะร้องอ๋อ เงินสกปรกจากทั่วโลกทั้งบ่อนการพนัน ค้าอาวุธ ค้าของเถื่อน ค้ายาเสพติดและค้ามนุษย์จำนวนหลายล้านเหรียญแปลสภาพกลายเป็นเงินออนไลน์เนื่องจากไม่ต้องทำธุรกรรมผ่านธนาคาร ไม่ต้องมีตัวตนเพียงแต่ติดต่อผ่านโบรกเกอร์ทุกคนสามารถซื้อ “บิทคอยน์”ได้ตามใจชอบ”
นั่นไม่อาจเป็นเรื่องที่จะปฏิเสธได้ว่าส่วนหนึ่งของ Bitcoin ที่สามารถมีชื่อเสียงขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยก่อนหน้านี้ได้มีโปรแกรมเรียกค่าไถ่นามว่า Petya ที่จะทำการล็อกเครื่องของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วๆไป และเรียกค่าไถ่เป็น Bitcoin อีกทั้งยังมีกรณีของนักลักพาตัวในประเทศอินเดียที่ลักพาตัวชายคนหนึ่งและเรียกค่าไถ่เป็น Bitcoin อีกด้วย
ทว่าความเป็นจริงก็คือ แม้ไม่มี Bitcoin อาชญากรรมทางด้านการเงินทั่วๆไปก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งตัวเลือกที่พวกอาชญากรเลือกใช้เหล่านั้นก็คงไม่พ้นเงินสด ในอดีตการซื้อขายยาเสพย์ติดและอาวุธก็ใช้เงินสดเช่นกัน ดังนั้นหากจะกล่าวหาว่า Bitcoin คือต้นเหตุของอาชญากรรมดังกล่าวก็คงจะไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่อไม่นานมานี้ทางสำนักข่าว Coin Telegraph ได้รายงานให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายนั้นใช้ Bitcoin เพื่อทำกิจกรรมทางด้านผิดกฎหมายน้อยกว่าเงินสดเสียอีก ดังนั้น Bitcoin ก็น่าจะเหมือนๆกับสกุลเงินทั่วๆไปที่มีตัวตนขึ้นมาแบบเป็นกลาง เพียงแค่ไม่สามารถจับต้องได้ กล่าวคือใครจะหยิบไปใช้ทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนว่าสิ่งๆนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่ Bitcoin ได้เปรียบมากกว่าเงินสดก็คือความโปร่งใสของมันที่มีเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นตัวขับเคลื่อน กล่าวคือผู้ใช้งานสามารถที่จะตรวจสอบที่มาที่ไปของธุรกรรมได้ตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินสดไม่สามารถทำได้ ดั่งที่เห็นในเคสตัวอย่างของการสืบสวนและจับกุมเจ้าของเว็บ BTC-e ที่มีการสืบหาต้นตอว่าเขาได้นำ Bitcoin ที่ถูกขโมยมาจาก Mt Gox เมื่อปี 2013 ไปฟอก และโอนเข้าหาบัญชีของตัวเองอีกด้วย
คุณธันวา สงวนสิน ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน cryptocurrency และเจ้าของกลุ่ม Bitcoin Thai Club ได้กล่าวแสดงความเห็นที่น่าสนใจไว้ โดยบอกว่า Bitcoin นั้นอยู่ที่ตัวผู้ใช้งานว่าจะเอาไปใช้ในทางที่ดีหรือไม่ดี ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับที่ตัวสกุลเงินเลยแม้แต่นิดเดียว
“บิทคอยน์ เอาไปใช้ประโยชน์ในด้านเสียก็มี ด้านดีก็ได้ จะไปโทษบิทคอยน์ว่าเป็นเงินบาปอย่างเดียวก็ไมไช่ อยู่ที่ตัวบุคคลที่เอาไปใช้ ควรแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลมากกว่าไปแก้ที่ตัวบิทคอยน์ต่อให้โลกนี้ไม่มีบิทคอยน์ คนไม่ดีเขาก็มีวิธีการไปใช้เครื่องมือตัวอื่นอยู่ดี”
กล่าวโดยคุณธันวา สงวนสิน
อาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าหลายๆคนจะเข้าใจ
นาย ป.นักธุรกิจยังได้กล่าวว่า Bitcoin นั้นเหมาะสมกับคนกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะพวกที่มีเงินเยอะๆ, นักเก็งกำไร, พวกกลุ่มนายหน้า, พวกนอกกฎหมายอย่างแกงค์มาเฟีย และมิฉาชีพอีกด้วย
“พูดตรงๆ กลุ่มบุคคลที่เหมาะกับบิทคอยน์ ก็คือพวกมีเงินเยอะๆ พวกเก็งราคา พวกนายหน้าซื้อมาขายไป หรือพวกนอกกฎหมาย แก๊งมาเฟีย มิจฉาชีพตัวเอ้ๆ ต้องการฟอกเงิน ชนชั้นล่าง คนระดับกลางผมไม่แนะนำให้เล่นหรือมาสนใจไม่มีประโยชน์”
ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศทำให้ Bitcoin ถูกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าว หลังจากนั้นประเทศอินเดีย และรัสเซียก็ทยอยตามมาเรื่อยๆ จุดสังเกตคือหลังจากมีการประกาศทำให้ถูกกฎหมายและยกเลิกภาษีผู้บริโภค 8% ในประเทศญี่ปุ่นแล้วนั้น ทำให้มีร้านค้าในประเทศญี่ปุ่นมากมายที่เปิดรับ Bitcoin เป็นช่องทางในการชำระเงิน โดยหนึ่งในนั้นก็คือร้านค้าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ BIC Camera รวมถึงสายการบิน Peach Airlines ด้วย และยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีร้านค้าอีกราวๆ 300,000 ร้านในประเทศญี่ปุ่นที่รับ Bitcoin ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็เป็นที่เห็นๆกันอยู่ว่าพวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่นาย ป.นักธุรกิจ กล่าวถึงแต่อย่างใด
ที่น่าสนใจคือเขาได้ยังแสดงความกังวลถึงการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายด้านนี้มารองรับ อีกทั้งยังมีการอ้างอิงถึง OneCoin หรือสกุลเงินดิจิตอลแชร์ลูกโซ่อีกด้วย
“บิทคอยน์ จะเข้าสู่ความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการอะไรที่ทันสมัย วันหนึ่งถ้ามันสามารถซื้ออะไรก็ได้นอกเหนือจากสินค้าออนไลน์ วันนั้นสังคมโลกและสังคมไทยวุ่นวายแน่ ขณะนี้มีเงินออนไลน์สกุลอื่นเข้ามาในตลาดกันแล้วเช่นเงิน “วันคอยน์” หรือสกุลจีนทราบว่ามีกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนเข้ามามือเปล่าๆ แต่สามารถเชิญชวนให้นักลงทุนไทยซื้อเงินหยวน จำนวนเท่าไหร่ก็ได้เพื่อนำไปซื้อสินค้าในอาลีบาบา ถึงขนาดแลกเงินสกุลหยวนกับบาท โดยไม่ผ่านตลาดการเงินไทย ไม่ต้องทำธุรการอะไรทั้งสิ้นเขาก็ทำๆได้ ตรงนี้คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง นี่คือรายละเอียดต่างๆที่ทำให้มองเห็นภาพอดีต ปัจจุบันและอนาคตของอานุภาพเงินออนไลน์” รายงานโดยผู้จัดการ
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2014 ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่า Bitcoin ในประเทศไทยนั้นไม่ผิดกฎหมายแต่ก็ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จึงควรที่จะใช้อย่างระมัดระวัง แต่ล่าสุดนั้น ทางแบงก์ชาติมีท่าทีที่เป็นบวกมากขึ้น เมื่อพวกเขาออกมาประกาศว่ากำลังศึกษา Bitcoin ซึ่งส่งสัญญาณอันดีว่าพวกเขาอาจจะทำให้ Bitcoin ถูกกฎหมายเร็วๆนี้ก็เป็นได้ (อ่านเพิ่มเติม 5 สิ่งที่อาจตามมาหากธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ Bitcoin ถูกกฏหมาย)
สรุปแบบย่อๆ
อาจเป็นที่กล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจในตัว Bitcoin และเทคโนโลยี Blockchain อย่างถ่องแท้และลึกซึ้งนั้นทำได้ยากและต้องใช้เวลานานในการตกผลึก ดังนั้นความเข้าใจที่ผิดๆในตัวของมันอาจทำให้หลายๆคนต้องสูญเสียโอกาสมากมายที่จะได้ทำความรู้จักกับมันอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะจากสื่อกระแสหลัก
เพิ่มเติม: เมื่อไม่นานมานี้ทางธนาคารไทยพาณิชย์เปิดให้บริการระบบโอนเงินด้วย Blockchain ของ Ripple ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ใช้เหรียญ Ripple ซึ่งจัดอยู่ในหมวด cryptocurency เหมือนกับ Bitcoin แต่นั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่ายุคแห่งเทคโนโลยี Blockchain นั้นกำลังคืบคลานเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว และอีกไม่นานไม่ช้าก็ดี ทุกๆคนก็อาจจะต้องโอบกอดเทคโนโลยีนี้แบบไม่รู้ตัว
ภาพแอพมือถือจาก Manager Online
The post “Bitcoin คือหายนะแห่งอนาคต” กล่าวโดยสำนักข่าวผู้จัดการ appeared first on Siam Blockchain.
No comments:
Post a Comment