วันนี้มาถึงอุปนิสัยที่ 4 ของ 7 อุปนิสัยสำหรับคนที่ต้องการจะมีประสิทธิผลสูงแล้วนะครับ ใน 3 อุปนิสัยแรกที่กล่าวไปนั้น เป็นเรื่องของตัวเราเอง เราจะมีเป้าหมายอะไร และจะทำอะไรก่อนหลัง ก็อยู่ที่ตัวเราเองจะสามารถควบคุมตนเองให้เป็นไปในสิ่งที่เราต้องการได้มาก เพียงใด ถ้าเราทำได้ตามที่เราวางเป้าหมายไว้ นั่นก็แปลว่าในส่วนของตัวเรานั้น เราสอบผ่าน 3 อุปนิสัยแรกแล้ว แต่การที่เราจะเป็นคนที่มีประสิทธิผลสูงนั้น เราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ในโลกนี้ เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และบางครั้งก็ต้องอาศัยบุคคลอื่นทำงานให้เราด้วยซ้ำไป ดังนั้นอุปนิสัยที่ 4-6 จึงเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ นั่นเอง
อุปนิสัยที่ 4 นี้ก็เลยเป็นเรื่องของการเปลี่ยนความคิดของเราในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ที่เราติดต่อด้วย โดยผู้เขียนให้เราคิดแบบ Win Win ก็คือ การที่เราจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับใครก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่เราจะต้องทำก็คือ จะต้องเปลี่ยนความคิดที่จะเอาชนะแต่ฝ่ายเดียว มาเป็นความคิดที่ว่า ชนะทั้งคู่ ไม่มีใครแพ้ หรือรู้สึกแพ้นั่นเอง
แต่ในสังคมของเราส่วนใหญ่นั้นถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่า ทุกอย่างมีแพ้มีชนะ ไม่ว่าจะเริ่มต้นสอบเข้าโรงเรียนอนุบาล ก็มีสอบได้ไม่ได้ สอบได้ ก็แปลว่าชนะ สอบไม่ได้ก็แปลว่าแพ้ โตขึ้นมาอีกหน่อยก็ต้องมีการสอบแข่งขันกันในทุกระดับ ก็มีแพ้ มีชนะ ก็เลยทำให้เรามีความคิดแบบแพ้ ชนะ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งความคิดแบบนี้ถ้าเราเอามาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ผมรับรองว่า ไม่มีใครอยากคบกับเราอย่างแน่นอนครับ
เคยเจอบางคนเวลาพูดคุยอะไรกับใคร ถ้ามีใครพูดในสิ่งที่เขารู้ เขาจะโต้กลับมาแบบต้องการให้เรารู้ว่า เขารู้มากกว่าเรานะ นี่ก็คือความคิดแบบ ชนะ-แพ้ เขาอยากชนะก็เลยพูดข่มเรา เราก็รู้สึกแพ้ ถ้าเราไม่ยอมเราก็ต้องข่มกลับไป ถ้าเป็นแบบนี้ความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นก็จะเป็นแบบฉาบฉวยมากกว่า
สิ่งที่เราต้องเปลี่ยนก็คือจะต้องไม่คิดเอาชนะคนอื่น ที่เราอยากจะสร้างสัมพันธ์ที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเราเอง ลองมาดูกรณีต่างๆ กันนะครับ
- กรณีหัวหน้ากับลูกน้อง หัว หน้ามักจะมีความคิดที่จะต้องชนะลูกน้อง เพราะคิดว่าเราเป็นหัวหน้า ดังนั้นเราต้องเหนือกว่าลูกน้องในทุกด้าน ลูกน้องห้ามเกินหน้าเกินตา แบบนี้ก็เป็นความคิดแบบ Win-Lose แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าเขาได้ตามที่เขาต้องการ และเราก็ได้ตามที่เราต้องการ แบบนี้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนมากกว่าครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นหัวหน้า ซึ่งหัวหน้าที่ดีก็คือต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อง แต่เรากลับพยายามทำตัวข่มลูกน้อง ทำให้ลูกน้องเสียหน้า ตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่น เราจะรู้สึก Win ลูกน้องก็ Lose แบบนี้ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราส่งเสริมให้ลูกน้องเราได้ดี เวลาลูกน้องมีผลงานก็ชม และบอกกับคนอื่นว่านี่คือผลงานของลูกน้องเราเอง สิ่งที่เราได้ก็คือ เราจะ win ในใจของลูกน้อง จะมอบหมายอะไรลูกน้องก็จะไว้เนื้อเชื่อใจเรา ลูกน้องก็ win เพราะเขารู้สึกว่าได้รับการตอบแทนทางด้านผลงานอย่างดีจากหัวหน้า นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ของ Win-win ครับ
- กรณีเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง ถ้าเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ ลดการข่มในทีลงบ้าง เราไม่จำเป็นต้องเอาชนะเพื่อนเราทุกอย่างหรอกครับ บางทีเราพูดอะไรไป ก็ย้อนกลับมาว่าเขารู้แล้ว และพูดต่อว่ารู้นานแล้ว รู้มากกว่าด้วย ฯลฯ แบบนี้เพื่อนก็คงจะไม่ชอบ เพราะรู้สึกแพ้นั่นเอง แต่ถ้าเรารู้แล้ว ไม่ข่ม แต่พูดเพื่อทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ และเสริมในสิ่งที่เรารู้มากกว่าเข้าไป เขาก็จะรู้สึกว่าเรารับฟังเขา และยังส่งเสริมเขาอีกด้วย ผมก็ไม่รู้ว่าเพื่อนกันจะข่มกันไปทำไมเหมือนกันนะครับ
- กรณีพ่อแม่กับลูก พ่อแม่ที่ดุลูก และต้องการเอาชนะลูกทุกอย่างเพราะคิดแค่เพียงว่าเขาเป็นพ่อแม้ต้องเหนือกว่า ลูก แบบนี้ลูกก็จะกลายเป็นเด็กเก็บกด แต่ถ้าเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก เราก็ต้องทำให้เขารู้สึก Win และเราก็ Win ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ดุด่าว่ากล่าว โดยไม่ฟังสิ่งที่ลูกพูดเลย แบบนี้เราชนะ แต่ลูกแพ้ แล้วลูกเราก็จะไปเอาชนะด้วยวิธีอื่นที่ไม่ถูกต้องแทน ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
- กรณีสามีภรรยา สามี ภรรยา อยู่ด้วยกันก็ย่อมจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นปกติ บางคนจะต้องเอาชนะให้ได้ โดยทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า หรืออับอาย บางครั้งก็ทำไปเพื่อสร้างความสะใจให้กับตนเองมากกว่า แบบนี้ก็ต้องมีฝ่าย Win และฝ่าย Lose แน่นอน และเมื่อไหร่ที่มีแบบนี้ ความสัมพันธ์ที่ดีก็จะไม่เกิดขึ้นได้เลย
มีคำถามมาว่า นิสัยแบบ win-win ก็คือ การที่เรายอมให้คนอื่นชนะ ใช่หรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่การยอมนะครับ ถ้าเมื่อไหร่เรายอมก็แปลว่าเรา Lose ถ้าเรารู้สึก Lose เมื่อไหร่ ก็จะทำให้เรารู้สึกไม่ดีเมื่อนั้น และก็จะมีผลต่อความสัมพันธ์แน่นอนครับ
ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันก็คงต้องตั้งสติให้ดี เพราะคนเราทุกคนมีแนวโน้มจะเอาชนะคนอื่นอยู่แล้ว ก็ย้อนกลับไปที่นิสัยที่ 1 อีก Proactive ครับ ต้องไม่ React ในเรื่องของอยากเอาชนะคนอื่น ยึดเป้าหมายว่าเราต้องการความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นต้องไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกแย่ โดยที่เรารู้สึกดีอยู่ฝ่ายเดียว หาวิธีที่ทำให้เรารู้สึกดี และฝ่ายตรงข้ามก็รู้สึกดีด้วยจะดีกว่าครับ
บทความอาจารย์ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
เรียบเรียงโดย สุทธิภัทร ชูสกุลพัฒนา
No comments:
Post a Comment