ปัจจุบันนี้ เรื่องของ Trust เป็นเรื่องที่คนทำงานทุกคนอย่างสร้างให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เรา Trust กัน การทำงานก็จะง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้น และความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง
พฤติกรรมง่ายๆ ที่เราสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นมีอะไรบ้าง
- ตรงต่อเวลา พฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่สำคัญมากที่จะทำให้คนอื่นเชื่อถือเรามากขึ้น หรือน้อยลง ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเรื่องของการบริหารเวลาของเราเอง ถ้าเรานัดหมายเวลากับคนอื่นแล้ว แต่เราไปสาย เช่น เข้างานสายบ่อยๆ เวลามีประชุม ก็เข้าสาย เวลามีอบรมสัมมนา ก็เข้าสาย นัดเพื่อนกินข้าว ก็ไปสาย นัดลูกค้าประชุมงาน ก็ไปสาย ฯลฯ แล้วเราก็มักจะหาข้ออ้างว่าที่มาสายเพราะ…… พฤติกรรมที่ไม่ตรงต่อเวลาเหล่านี้ จะทำให้ตัวเราเองค่อยๆ หมดความน่าเชื่อถือในสายตาของคนอื่นลงไปเรื่อยๆ ผมเคยมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้มาก็คือ มีเพื่อนพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกันมา ผลงานก็อยู่ในเกณฑ์ดี แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนอย่างมากก็คือ เรื่องของเวลานี่แหละครับ ไม่ว่าจะนัดใคร หรือนัดอะไร ก็สายตลอด ซึ่งผลก็คือ ลูกค้าค่อยๆ หมดความเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นหัวหน้าของเขาก็ไม่เคยเสนอชื่อเขาในการเลื่อนตำแหน่งเลย โดยให้เหตุผลว่า “บริหารเวลาของตัวเองง่ายๆ แค่นี้ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปบริหารลูกน้องได้อย่างไร ลูกน้องก็คงไม่มีความเชื่อถือ ทำงานก็น่าจะมีปัญหาความขัดแย้งตามมา” สุดท้ายพนักงานคนนี้ ก็ไม่ได้โตไปไหนเลย
- รักษาสัญญา พฤติกรรมที่สอง ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้นก็คือ การรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งงาน การรับปากว่าจะทำอะไรบางอย่างให้ ภายในวันไหน ทั้งเรื่องที่สำคัญ และเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ถ้าเราสามารถรักษาสัญญาที่เราให้ไว้กับคนอื่นได้ทุกเรื่อง ก็จะทำให้คนอื่นให้ความเชื่อถือในตัวเรามากขึ้นได้ สิ่งที่คนเรามักจะทำก็คือ รับปากไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ตัวทีหลังว่าทำไมถึงทำไม่ได้อย่างที่รับปากไว้ พฤติกรรมลักษณะนี้มีแต่จะทำให้ตัวเราหมดความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อยๆ ในสายตาของคนอื่น
- ไม่นินทาผู้อื่นลับหลัง พฤติกรรมที่สาม ที่จะทำให้ความน่าเชื่อถือในตัวเราในสายตาของคนอื่นลดลงได้ ก็คือ การที่เรานินทาผู้อื่นลับหลัง นินทาก็คือ การพูดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ดี โดยที่คนที่เราพูดถึงนั้นไม่อยู่ตรงนั้นด้วย การทำพฤติกรรมแบบนี้ คนที่ฟังเราอาจจะรับฟังอย่างดี แต่ในใจเขาก็คงคิดว่า “ขนาดคนอื่นยังโดยนินทา แสดงว่าเราเองก็คงจะต้องถูกคนนี้นินทากับคนอื่นเช่นกัน” เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ความเชื่อถือที่มีต่อคนคนนี้ก็จะลดลง
ลองเอาไปใช้ดูก็ได้นะครับ
บทความโดย อาจารย์ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
No comments:
Post a Comment